ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2555

ถ่ายรูปอย่างไรให้ดูดี

อยากสวย แต่มันไม่ค่อยสวย .. แต่เราก็มีวิธีช่วยให้ดูดีได้ ด้วยเทคนิคการถ่ายรูปต่างๆ เหล่านี้ เทคนิคที่จะทำให้ถ่ายรูปออกมาแล้วดูดี ไม่ได้หลอกลวงใคร แค่เปิดไม่หมด ปิดนิดปิดหน่อยเท่าน้าน .... นี่เป็นเคล็ดลับเทคนิคถ่ายรูปให้ออกมาดูดี ข้อที่ 3 ส่วนข้อ 1  กับ 2 นั้น คลิกตามลิงค์ข้างล่างนะคะ 
กฎ 4 ข้อ เทคนิคการถ่ายรูปให้น่ารัก ..ถ่ายรูปให้ตัวเอง

ถ่ายรูปให้ตัวเอง
กฏข้อที่ 1 : เช็คสภาพตัวเองเสียก่อน
คุณต้องแน่ใจว่าไม่มีอะไรติดอยู่ตามซอกฟันของคุณ โดยเฉพาะคนที่ดัดฟันควรสำรวจตนเองเสมอๆ ว่ามีอะไรติดอยู่ที่เหล็กดัดฟันของคุณหรือไม่ อย่าปล่อยให้เหล็กดัดฟันของคุณกลายร่างเป็นแปลงเกษตรปลูกผักโดยเด็ดขาด และควรจัดแต่งทรงผมของคุณให้เรียบร้อย ดูด้วยว่ามีแสงเพียงพอแล้วหรือไม่ 
วิธีง่ายๆ ในการเช็คสภาพตัวเองว่าดูดี เมื่ออยู่หน้ากล้องแล้วหรือยังให้ลองหยิบกระจกวิเศษของเหล่าบรรดาเจ้าหญิงที่มักพกพาติดกระเป๋ามาส่องดู โดยสมมุติว่ากระจกของคุณคือกล้องดิจิตอล ลองแอ็คท่าทางต่างๆและหมั่นฝึกซ้อมอยู่เสมอ พึงระลึกไว้ว่า ต้องมีแสงเพียงพอถึงจะถ่ายรูปออกมาสวย แต่ถ้าหากอยากจะถ่ายแต่แสงไฟไม่เป็นใจ ไม่ต้องถึงขนาดพกสปอตไลท์ติดตัว เพื่อเพิ่มความสว่างให้ตัวเอง ให้ลองปรับโหมดในโทรศัพท์หรือในกล้องดิจิตอลเป็นภาพขาว-ดำ หรือภาพสีอื่นๆ ตามแต่ที่ฟังก์ชันในมือถือของคุณจะสามารถทำได้ 
ถ่ายรูปให้ตัวเอง
กฏข้อที่ 2 : การมองกล้อง
สิ่งหนึ่งที่ดูแย่มากๆ ที่ทำลงไปเวลาถ่ายรูปด้วยตนเองอย่างหนึ่งคือ การหันหน้ามองตรงไปยังกล้องเพราะเมื่อคุณได้เช็ครูปถ่ายของคุณอีกครั้ง คุณจะพบความจริงที่ว่า ทำไมหน้ามันใหญ่อย่างนี้! ถ้าหากอยากให้หน้าดูผอมลง เล็กเรียวขึ้น ให้ทำตาม 3 ขั้นตอนง่ายๆ 
     1. มองขึ้นไปหากล้อง
     ทำได้โดยยกกล้องขึ้นสูงกว่าศรีษะประมาณ 20 cm ไม่ต้องแหงนหน้าแต่ใช้วิธีมองขึ้นไปหากล้องแทน ซึ่งวิธีนี้จะทำให้หน้าของคุณดูผอมลงและตาดูโตขึ้น เคล็ดลับง่ายๆสำหรับขั้นตอนนี้คือต้องแน่ใจว่าคางของคุณถูกกดต่ำลงในขณะที่ตากำลังมองช้อนขึ้นไปหากล้อง และต้องแน่ใจอีกด้วยว่าตาคุณต้องโตเหมือนกำลังประหลาดใจกับอะไรสักอย่างอยู่ 
     2. มองต่ำลงหากล้อง
     วิธีนี้กลับกันเลยกับขั้นตอนแรกเพราะแทนที่เราจะยกกล้องสูงขึ้น 20 cm กลายเป็นเอากล้องไว้ข้างล่างจากใบหน้าประมาณ 20 cm แทน มองต่ำลงหากล้องขณะที่พยายามเบิกตาให้โตเหมือนเดิม เพราะว่าขณะมองลงตาอาจจะเล็กกว่าเก่าได้ง่ายๆ พร้อมกันนั้นกดคางลงต่ำกว่าเดิมด้วยเล็กน้อย วิธีนี้เป็นการคิดขึ้นเพื่อให้คุณยังคงสภาพนางฟ้าไว้ได้เพราะใบหน้าของคุณในภาพถ่ายมันจะดูผอมขึ้นกว่าเก่า ถึงแม้ว่ามันจะดูเหมือนทำได้ง่ายๆแต่ทำให้ผลลัพธ์ออกมาดูสวยเป็นที่น่าพึงพอใจได้นั้นไม่ง่ายเหมือนขั้นตอนแรกอย่างแน่นอน 
     3. เอียงศรีษะทำมุมแต่พองาม
     นับว่าเป็นวิธียากมากๆ กับการโพสท่าถ่ายรูปให้ดูเป็นธรรมชาติมากที่สุดด้วยวิธีนี้ เพราะว่าการเอียงศรีษะหันหน้าไปทางอื่นเสมือนว่าคุณไม่สนใจกล้อง ในขณะที่คุณต้องถ่ายรูปพวกนี้ด้วยตัวคุณเองจึงเป็นเรื่องที่ลำบากพอสมควร เพราะว่าส่วนมากมักจะไม่ได้ภาพตามที่คุณต้องการ ฉะนั้นอย่าเพิ่งหมดกำลังใจไปเมื่อพบว่าหน้าคุณเหมือนคนกำลังแสร้งทำเป็นไม่เห็นกล้อง คิดเสียว่ามันเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการเรียนรู้วิธีถ่ายภาพด้วยขั้นตอนแบบนี้ ถ้าหากว่าเมื่อไหร่ที่คุณเริ่มคุ้นเคยกับกล้องดิจิตอลจนกลายเป็นของติดมือที่แทบจะวางไม่ลง ถือได้ว่าคุณประสบความสำเร็จกับการถ่ายรูปด้วยตนเองแล้วและในอีกไม่ช้าคุณคงจะมีรูปถ่ายสวยๆไว้อวดเพื่อนๆได้อย่างแน่นอน 
กฏข้อที่ 3 แสดงตัวตนที่แท้จริงออกมาซะดีๆ!
ทั้งหมดที่จะแนะนำต่อไปนี้ คือวิธีเปิดเผยตัวตนของคุณต่อหน้ากล้อง ถ้าจะให้ดี ควรเช็คกล้องของคุณซะก่อนว่า ไม่ได้แอ็คท่าถ่ายรูปเสียเวลาฟรีๆ เมื่อคิดว่าทุกอย่างพร้อมแล้ว ก็โชว์ความบ้าที่แสดงถึงตัวตนอีกด้านหนึ่งของคุณออกมาให้โลกได้ประจักษ์กันเลยด้วย 2 วิธีง่ายๆ 
     1. ไม่มีวิธีใดจะดีไปกว่าการเปิดกว้างแสดงความบ้าในตัวของคุณออกมา เพื่อให้เห็นด้านไม่ปกติของคุณเก็บไว้ดูเล่น เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าคุณมีความมั่นใจมากพอที่จะสร้างสรรค์เรื่องสนุกๆให้เกิดขึ้นกับตัวคุณเองได้หรือไม่ คุณไม่ต้องไปกังวลว่ามันจะออกมาประหลาดเพราะว่าภาพพวกนี้มันจะเป็นภาพถ่ายสุดฮาที่สร้างความประทับใจให้คุณได้ทุกครั้งเมื่อหยิบขึ้นมาดู 
     2. อุปกรณ์เสริม ถ้าคุณเบื่อกับการแสดงท่าทางบ้าๆ ของตัวเองออกมาแล้ว ลองหันไปหยิบอุปกรณ์เสริมบางอย่างที่จะสร้างความเพลิดเพลินให้กับคุณขณะถ่ายรูป อุปกรณ์ประกอบฉากทั่วไปที่เห็นนำมาใช้บ่อยๆอย่างเช่น ผ้าเช็ดตัว,หมวกและวิกผม ซึ่งนับว่าจำเจมาก จึงอยากแนะนำให้ลองสรรหาอะไรใหม่ๆมาเพิ่มความสนุกให้กับการถ่ายรูปนอกเหนือจากอุปกรณ์ที่กล่าวมาแล้ว 
กฏข้อที่ 4 : ซ้อม,ซ้อม แล้วก็ ซ้อม
เทคนิคชั้นนำของการถ่ายรูปที่ควรจะต้องทำและเป็นวิธีที่ดีที่สุดเลยนั่นคือ การพกพากล้องดิจิตอลไปกับคุณด้วยทุกๆ ที่ที่คุณไป และถ่ายรูปเมื่อใดก็ตามที่คุณมีเวลาให้กับมันประมาณ 30 วินาที อย่าเสียเวลาเปล่าๆ หยิบกล้องมาถ่ายรูปกันได้เลย! 
     1. ขณะกำลังโหลดเว็บไซต์
     ขณะที่คุณกำลังรอโหลดเว็บบล็อกต่างๆ ที่คุณชื่นชอบ ให้สร้างสรรค์ภาพถ่ายด้วยตัวคุณเองจากคอมพิวเตอร์ภายในเวลาไม่ถึง 30 วินาทีด้วยการเปิดกล้องยกขึ้นหรือวางต่ำลงแล้วแต่สะดวก 
     2. ขณะช้อปปิ้ง
     ขณะที่คุณกำลังรอคอยพนักงานในร้านไปหยิบเสื้อผ้าตามไซส์ของคุณ สามารถถ่ายรูปคุณเองจากกระจกในห้องลองเสื้อผ้าได้เลย มันไม่จับภาพเฉพาะหน้าของคุณอย่างเดียวเท่านั้นมันสามารถถ่ายภาพเต็มตัวของคุณได้ด้วย หากโชคดีเจอกระจกที่ส่องแล้วผอมกว่าตัวจริง คุณยังมีภาพหุ่นสวยไว้โชว์เพื่อนๆได้ด้วยเช่นกัน 
     3. ขณะขับรถ
     ครั้งต่อไปเมื่อคุณต้องเผชิญกับสภาพการจราจรที่ติดขัดปัญหาแก้ไม่ตกของคนกรุง แก้เบื่อได้ด้วยการหยิบกล้องขึ้นมา เพื่อฝึกฝนทักษะการถ่ายรูปของคุณไปพลางๆ แต่พึงระลึกไว้ด้วยคุณจะใช้วิธีนี้ได้ก็ต่อเมื่อแน่ใจว่าเป็นสภาพจราจรที่ติดแหง็กไม่ขยับเขยื้อนเลยเท่านั้น เพราะคงไม่ดีแน่ๆถ้าหากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเกิดเพราะคุณมัวแต่ถ่ายรูป 
     4. กำลังนอน
     ถ้าคุณไม่อยากลุกออกจากเตียง หรือว่าข่มตานอนไม่หลับ ให้ลองฝึกฝนถ่ายภาพขณะอยู่บนเตียงก็ได้ ( คำเตือน : อย่าถ่ายภาพติดเรทเพราะวันหนึ่งคุณอาจเป็นนางแบบหวือบนอินเตอร์เน็ตโดยไม่รู้ตัว ) แต่ที่ยากมากๆสำหรับวิธีนี้ก็คือน้อยคนนักที่จะดูเป็นนางฟ้าตอนกำลังจะนอนหรือตอนเพิ่งตื่นนอน!
ถ่ายรูปให้ตัวเอง
4 ข้อควรจำ ถ้าอยากให้อยากรูปออกมาดูดี สำหรับสาวๆ
1. ห้ามถ่ายรูปให้เห็นหน้าอกหน้าใจเป็นเด็ดขาด ..เราไม่่ใช่นางเอกหนังโป๊นะคะ ไม่จำเป็นต้องให้เห็น เพราะมันจะทำให้ภาพพจน์เราเสียหายได้ค่ะ 
2. ห้ามนั่งถ่างขา หันหน้าเข้ากล้อง .. แม้จะใส่กางเกงยีนส์มิดชิด หรือกระโปรงกรอมเท้า แต่การนั่งอ้าขาใส่กล้อง จะแลดูไม่เรียบร้อยที่สุดเลย
3. อย่ายกนิ้วกลางชี้โด่ มานิ้วเดียว เพราะนั่นคือสัญลักษณ์ที่ไม่สุภาพเอามากๆ  น้องๆ คงรู้ดีนะ
4. ไม่ควรถ่ายรูปในห้องน้ำ .. เอ๊า เรื่องจริงนะ ว่าไม่ควร เพราะว่าในห้องน้ำน่ะมันเป็นพื้นที่ส่วนตัวมากๆ ถ้าถ่ายออกมาแล้วมองเห็นชักโครกยิ่งแล้วใหญ่ แม้ว่าห้องน้ำจะสะอาดแค่ไหน ก็เว้นไว้สักที่เต๊อะ 
แต่บางคนก็บอกว่า แสงในห้องน้ำสวย... อดใจไม่ได้ที่จะถ่าย แนะนำว่า ควรจะถ่ายหลบๆ มุม ไม่ให้เห็นว่าเป็นผนังห้องน้ำ ไม่ให้เห็นชักโครก (โอเคนะ)

ป.ล. ภาพประกอบ ก็ต้องใช้วิจารณญาณในการชม ว่าอันไหนควรไม่ควร หรือภาพไหนเอามาแป่ะไว้ประกอบ แต่ไม่เหมาะสม ก็ให้ดูว่า มันไม่เหมาะสม ไม่ควรทำ ...แม้จะไม่ได้บอกชัดเจนว่า อันไหนควรไม่ควร แต่หวังว่า น้องๆ คงแยกแยะเองได้บ้าง นะค้า
ภาพประกอบ
 ถ่ายรูปให้ตัวเอง
ภาพซ้ายน่ารัก ภาพขวาหวิวไปหน่อย ไม่ควรถ่ายแบบนี้เท่าใหร่ แต่ถ้าเสื้อคอมิดชิดกว่านี้ถ่ายแบบนี้ได้ไม่มีปัญหา


 ถ่ายรูปให้ตัวเอง
อันนี้มีของมาประกอบฉาก แลดูน่ารักเข้าไปอีก ถ้าอ้าปาก ควรเช็คว่ามีอะไรติดเหงือกหรือเปล่า ไม่ควรถ่ายให้เห็นฟันที่เราอุดไว้ จะแลดูสุขภาพปากไม่ค่อยจะดีนะจ๊ะ

 ถ่ายรูปให้ตัวเอง
ท่าแลบลิ้นแบบนี้ เสี่ยงมาก ยากที่จะทำออกมาแล้วน่ารัก

 ถ่ายรูปให้ตัวเอง
ตัวอย่างการแอบถ่ายด้านข้างของตัวเอง (ด้านขวา)

 ถ่ายรูปให้ตัวเอง
ภาพซ้ายรู้สึกจะเป็นผนังห้องน้ำ .. แต่แบบนี้ก็ไม่น่าเกลียดเท่าใหร่

 ถ่ายรูปให้ตัวเอง
ภาพขวามือนี่ สวย แต่ฉากหลังไม่ผ่านคร้า รกไปนี๊ดดดด

ถ่ายรูปให้ตัวเอง
ภาพซ้ายนี่เกือบหวิว แต่ก็ไม่น่าเกลียด แต่ภาพขวานี่ถ้าสวยไม่จริง ถ่ายย๊ากกกยากล่ะ

นิสัยแบบนี้......ควรจะเรียนคณะไหนดี


คนมีเหตุมีผล
           เต็มไปด้วยหลักการชอบการประมวลเรื่องราวเพื่อค้นหาข้อเท็จจริงให้ปรากฏ ลักษณะเหล่านี้เหมาะจะทำงานด้านการจัดการ บัญชี ช่างไฟฟ้าโปรแกรมเมอร์ รวมไปถึงงานทางด้านเทคนิค และคณะที่เหมาะสมกับคนนิสัยประเภทนี้ ได้แก่ คณะบริหารธุรกิจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาการคอมพิวเตอร์
คนประเภทอ่อนไหว
           มีสัญชาตญาณในการดูแลปกป้อง ลองมองหางานประเภทเป็นที่ปรึกษา เป็นพยาบาล หรือสอนหนังสือ และคณะที่เหมาะสมกับคนนิสัยประเภทนี้ ได้แก่ คณะศึกษาศาสตร์ คณะครุศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสังคมสงเคราะห์ คณะจิตวิทยา คณะรัฐประศาสนศาสตร์
คนกระตือรือร้น
           ชอบพูดคุย มีความทะเยอทะยาน ชัดเจนเลยว่างานที่เกี่ยวข้องกับทีวีวิทยุ โฆษณา น่าจะเหมาะกับคุณ และคณะที่เหมาะสมกับคนนิสัยประเภทนี้ ได้แก่ คณะนิเทศศาสตร์ คณะการสื่อสารมวลชน คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน
คนมองโลกในแง่ดี
           อยากรู้อยากเห็นเต็มไปด้วยพลัง น่าจะสนใจอาชีพที่ไม่ต้องอยู่นิ่งตลอดเวลา อย่างเช่น ไกด์หรือมัคคุเทศก์ หรือแม้แต่พนักงานขายที่ต้องเดินทางไปโน่นมานี่บ่อยๆ และคณะที่เหมาะสมกับคนนิสัยประเภทนี้ ได้แก่ คณะศิลปศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ คณะการโรงแรม คณะอุตสาหกรรมการบริการ คณะอักษรศาสตร์
คนพิถีพิถันประณีตเรียบร้อย
           ชำนาญการวิเคราะห์ ชอบให้คำแนะนำแบบลงลึก อาชีพที่น่าจะเหมาะกับคุณคืองานด้านวิจัย สถิติ หรือสืบสวนสอบสวน และคณะที่เหมาะสมกับคนนิสัยประเภทนี้ ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
คนเกิดมาเพื่อเป็นผู้นำ
           ไม่ชอบอยู่ใต้บังคับใคร แต่ขณะเดียวกันก็ชอบอยู่ในสังคมมากกว่าตามลำพัง น่าจะลองมองหาที่ว่างในตำแหน่งที่ได้แสดงพลัง อย่างเช่น ซีอีโอบรรณาธิการ หรือแม้แต่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและคณะที่เหมาะสมกับคนนิสัยประเภทนี้ ได้แก่ คณะบริหารธุรกิจ คณะนิเทศศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์
คนช่างจินตนาการ
           เจ้าบทบาทมีความคิดลึกซึ้งในเชิงปรัชญา งานที่จะทำให้คุณสนใจได้ก็คือนักจิตวิทยา จิตแพทย์ นักแสดง และศิลปินทุกแขนงไม่ว่าจะเป็นศิลปะหรือดนตรี และคณะที่เหมาะสมกับคนนิสัยประเภทนี้ ได้แก่ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์
คนใจบุญสุนทาน
           ชอบสั่งสอน และชอบที่จะมองเห็นพัฒนาการหรือการเจริญเติบโต มักสนใจงานประเภทสังคมสงเคราะห์ นักบุญ ผู้พิพากษา และคณะที่เหมาะสมกับคนนิสัยประเภทนี้ ได้แก่ คณะนิติศาสตร์ คณะสังคมสงเคราะห์ คณะรัฐศาสตร์ คณะรัฐประศาสนศาสตร์
คนที่มีความคิดสร้างสรรค์
           มีสายตาแหลมคมลึกซึ้ง มีเซ้นส์ หรือพรสวรรค์ในการแยกแยะความสวยงาม คงเหมาะที่สุดกับงานกราฟิก ถ่ายภาพ หรือถ้าเป็นเชฟก็จะสามารถปรุงอาหารรสเลิศได้อย่างไม่ต้องพยายามมาก และคณะที่เหมาะสมกับคนนิสัยประเภทนี้ ได้แก่ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ คณะนาฎศิลป์การละคร

คุณลักษณ์ของผู้เรียนสำหรับโลกอนาคต






ผลจากการประเมินคุณภาพของนักเรียนด้วยข้อสอบ PISA (Programme  for  International  Student  Assessment) ของกลุ่มประเทศสมาชิก OECD(Organisation for  Economic  Co-operation  and  Development)

ซึ่งเป็นการประเมินตรวจสอบโดยมองไปในอนาคตว่าระบบการศึกษาได้เตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนสำหรับการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ และเพื่อการมีส่วนร่วมในสังคมในอนาคตเพียงพอหรือไม่  พบว่า  นักเรียนไทยยังมีระดับ “ความรู้หนังสือ” (ผู้เขียนขอใช้คำว่า “ความรู้หนังสือ” แทนคำว่า “Literacy” ซึ่งน่าจะยังไม่มีคำไทยที่จะสื่อความหมายได้ตรงตัวที่สุด) อยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์และอยู่ในลำดับท้ายๆ ซึ่ง “ความรู้หนังสือ” นี้มิได้มีความหมายเพียงแค่การอ่านออกเขียนได้ และคิดคำนวณเป็นเท่านั้น แต่มีความหมายรวมไปถึงความสามารถในการวิเคราะห์  ตีความสารสนเทศที่ได้จากการอ่าน  การรู้เท่าทันข้อมูล สื่อ  เหตุการณ์ หรือสภาวการณ์ต่างๆ ด้วย  ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคที่มีข้อมูลสารสนเทศท่วมหัวเช่นในปัจจุบัน

แนวโน้มการศึกษาของไทยเองก็ตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้เป็นอย่างยิ่ง กระทรวงศึกษาธิการจึงได้พยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบหลักสูตรให้เป็น “หลักสูตรอิงมาตรฐาน(Standard-Based  Curriculum)” แทนหลักสูตรเดิมซึ่งเป็นหลักสูตรแบบอิงเนื้อหา(Content-Based  Curriculum) เพราะการจำข้อมูลความรู้ไปแบบดิบๆ ของนักเรียนไม่สามารถจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการนำไปใช้พัฒนาประเทศชาติได้  ยิ่งสถานการณ์ของโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  องค์ความรู้ต่างๆ ก็มีการปรับเปลี่ยน/เพิ่มเติมอย่างรวดเร็วจนยากที่ครูจะบอกสอนผู้เรียนได้ครบทุกเรื่อง โรงเรียนจึงควรสอนความรู้ที่เป็นรากฐานสำคัญและทักษะที่ผู้เรียนจะนำไปใช้ในการแสวงหาความรู้หรือเรียนรู้เพิ่มเติมด้วยตนเองได้ในภายภาคหน้า

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช 2551  เองก็พยายามที่จะระบุสมรรถนะที่สำคัญสำหรับผู้เรียนไว้ 5 ประการคือ ความสามารถในการสื่อสาร ความสามารถในการคิด  ความสามารถในการแก้ปัญหา ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต และความสามารถในการใช้เทคโนโลยี ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ในกลุ่มสาระต่างๆ รวมทั้งกิจกรรมที่โรงเรียนจัดขึ้น  แต่ผู้เขียนเองก็ไม่มั่นใจนักว่ากิจกรรมการเรียนการสอนในห้องเรียนทั่วไปจะส่งเสริมให้เกิดสมรรถนะดังกล่าวได้เป็นอย่างดีหรือไม่  หากทุกฝ่ายยังไม่เข้าใจเหตุผลความจำเป็นที่แท้จริง  จึงอยากเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับคุณลักษณะที่มีความจำเป็นต่อผู้เรียนสำหรับโลกในอนาคต  ซึ่งครูควรหล่อหลอมและปลูกฝังให้เกิดกับผู้เรียน  ดังนี้

1.นักอ่าน  จากตัวเลขสถิติการอ่านหนังสือโดยเฉลี่ยของคนไทยที่น้อยจนน่าวิตก รัฐบาลเองก็มีความพยายามที่จะผลักดันเรื่อง “รักการอ่าน” ให้เป็นวาระแห่งชาติ  แต่ก็ยังดูเป็นเพียงลมปาก (Lip Services) เท่านั้น  ผู้เขียนอยากเสริมในประเด็นนี้อีกว่า  นอกจากในเรื่องของการอ่านภาษาไทยแล้ว โรงเรียนคงต้องช่วยส่งเสริมในเรื่องการอ่านและใช้ภาษาอังกฤษด้วย  ทำอย่างไรจะทำให้สังคมไทยยอมรับภาษาอังกฤษได้อย่างไม่เคอะเขิน(แม้ว่าเราจะไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใครก็ตาม) อย่ามองการใช้ภาษาอังกฤษว่าเป็นเรื่องของคนหัวสูง แต่ควรฝึกฝนใช้ให้เป็นสิ่งคุ้นเคย  ทั้งนี้เพราะภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เราคุยกับคนทั่วโลกได้รู้เรื่อง  เราจะสามารถเรียนรู้วิทยาการต่างๆ ได้อย่างไร้พรมแดน ลองนึกภาพดูว่าคนค่อนโลกเขาคุยกันรู้เรื่องหมดแต่เราคุยกับเขาไม่รู้เรื่องอยู่คนเดียวแล้วจะเป็นอย่างไร ฉะนั้นอย่าปล่อยให้ภาษาอังกฤษกลายเป็นปมด้อยและอุปสรรคในการออกสู่โลกกว้างสำหรับคนไทยส่วนใหญ่เช่นในอดีตและปัจจุบัน

2.นักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้  เราจะพบว่านักเรียนไทยจำนวนไม่น้อยยังมองเทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือสื่อสาร และใช้เพื่อการบันเทิงเท่านั้น  แต่ยังไม่มองเทคโนโลยีในแง่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ไร้พรมแดน  ซึ่งตรงนี้ครูคงต้องริเริ่มออกแบบการสอนที่จะนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ในห้องเรียน  เพื่อพยายามชี้ให้นักเรียนได้เห็นว่าเราสามารถใช้ประโยชน์และหาคำตอบในสิ่งที่อยากรู้ทั้งหลายได้จากเครือข่ายอินเทอร์เน็ต รวมทั้งเสนอตัวอย่างมุมมองการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเป็นช่องทางเพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพ  หรือที่เรียกว่า  “มองให้เป็นเงินเป็นทอง” ขึ้นมาได้

3.นักวิเคราะห์สารสนเทศ  เนื่องจากปัจจุบันในโลกไซเบอร์มีสารสนเทศอยู่มากมาย  บ้างก็เป็นข้อเท็จจริง บ้างก็เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคล และที่ร้ายกว่านั้นอาจเป็นข้อความที่มีเจตนาบิดเบือนหลอกลวงให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดเพื่อหวังประโยชน์ส่วนตน นักเรียนจะต้องมีวิจารณญาณในการตีความและ  วิเคราะห์ก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อ  บ่อยครั้งที่ครูสั่งงานให้นักเรียนไปค้นคว้าหาความรู้จากอินเทอร์เน็ตแล้วนักเรียนใช้การก๊อป&วาง(Copy and Paste) เพื่อทำรายงานมาส่งครูโดยที่ไม่ได้อ่านเนื้อหานั้นเลย  ครูควรแนะนำให้นักเรียนรู้จักเลือกแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้  เช่น  เว็บไซต์ของหน่วยงานราชการ  สถาบันการศึกษา รวมทั้งให้นักเรียนอ้างอิงที่มาของเนื้อหานั้นด้วย  เพื่อครูจะได้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลและการทำงานของนักเรียนว่า นักเรียนได้สังเคราะห์ข้อมูลเป็นหรือไม่อย่างไร

4.นักแก้ปัญหา  สำนวน “ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด” เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนของการจัดการศึกษาที่ไม่บรรลุประสิทธิผล  ผู้เรียนไม่สามารถนำความรู้ที่ร่ำเรียนไปใช้ได้จริง  สังคมจะเต็มไปด้วยคนประเภทที่ “รู้ดี  พูดดี  แต่ทำไม่ได้” คงต้องยอมรับว่าปัจจุบันประเทศของเรามีปัญหาในสังคมหลายเรื่องที่ยังแก้ไม่ได้  ผู้หลักผู้ใหญ่บางคนก็ยังหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญกับปัญหาโดยตรงหรือใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบโกยเอาปัญหาไปกองหลบไว้อีกมุมหนึ่ง(พอให้ลับตาคน) วันดีคืนดีปัญหาเหล่านั้นก็ปะทุขึ้นมาทีหนึ่ง วนเวียนอยู่เช่นนี้เป็นวัฏจักร และนับวันปัญหาทั้งหลายก็ยิ่งมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ โรงเรียนควรต้องจัดประสบการณ์ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ฝึกวางแผนแก้ปัญหา ได้เรียนรู้เทคนิคการแก้ปัญหาที่เป็นชีวิตจริงอยู่เสมอ เพื่อเป็นการเตรียมสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพในการแก้ปัญหาแบบยั่งยืนให้กับประเทศชาติ  อนาคตของชาติจะได้ไม่แย่ไปกว่าวันนี้

5.นักกระหายใคร่เรียนรู้(Active Learner)  ผู้เขียนจะรู้สึกสลดใจมากหากได้ยินคำถามจากนักเรียนว่า “วันนี้ครูจะสอนอะไร”  “ครูจะสั่งให้ทำอะไร” “อันนี้ต้องจดไหม” ฯลฯ เพราะนั่นแสดงให้เห็นว่านักเรียนได้แต่รอให้คนอื่นมานำพาชีวิตเขาไป  นักเรียนไม่ได้มีเป้าหมายแท้จริงอย่างที่ตัวเองต้องการ  ได้แต่ทำตามที่คนอื่นบอกหรือทำอย่างที่เขาทำๆ กัน  นักเรียนทุกคนควรมีความศรัทธาเชื่อมั่นในตนเองว่า “ฉันทำได้...ฉันเรียนรู้ได้” และ “ฉันจะต้องได้เรียนในสิ่งที่ฉันอยากรู้” เพราะแท้ที่จริงแล้วการศึกษาก็คือชีวิตของเรา  ในปลายทางของชีวิตแล้วเราไม่ได้เรียนไปเพื่อสอบ ไม่ได้เรียนไปเพื่อเกรด4  ไม่ได้เรียนไปเพื่อพ่อเพื่อแม่ แต่เราเรียนเพื่อการดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขบนโลกใบนี้  และมีชีวิตเพื่อการเรียนรู้ (Lifelong Learning)

6.นักธรรม  คุณสมบัติข้อนี้มิได้หมายถึงการสอบธรรมศึกษา(ที่เน้นแบบเชิงปริมาณ)แต่อย่างใด  แต่หมายถึงการมีคุณธรรมจริยธรรม มีสำนึกรับผิดชอบต่อผู้อื่นและสังคม และรู้สึกละอายต่อการทำผิด ซึ่งเป็นสิ่งที่จะกำกับความกระหายใคร่รู้ในข้อ 5 มิให้กลายเป็นความ “สอดรู้”  เราคงรู้สึกกันได้ว่าสังคมไทยขณะนี้เริ่มมองการสอดรู้สอดเห็นเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว  ไม่ว่าจะเป็นกรณีคลิปลับส่วนบุคคลที่ต้องกลายเป็นคลิปสาธารณะ หนังสือประเภทซุบซิบนินทาที่วางขายกันเกลื่อนแผงหนังสือ หรือแม้แต่รายการประเภทแฉเรื่องราวส่วนบุคคลของคนที่มีชื่อเสียง อันแสดงให้เห็นว่าสังคมกำลังมัวเมากับการเสพความบันเทิงจากเรื่องเสียหายของผู้อื่น  หากเราปล่อยให้เยาวชนเอาแต่ลุ่มหลงฝักใฝ่กับเรื่องเหล่านี้โดยไม่กระตุกความคิดกันบ้าง ความเจริญงอกงามทางความคิดของเยาวชนไทยก็คงลอยไกลออกไปทุกที

ผู้เขียนเชื่อว่าหากการศึกษาขั้นพื้นฐานสามารถทำให้เยาวชนเกิดคุณลักษณ์ 6 ประการข้างต้นได้สำเร็จ  นั่นถือเป็นการปฏิรูปการศึกษาอันยิ่งใหญ่เสียยิ่งกว่าการปฏิรูปเอกสารหลักสูตร  ปฏิรูปข้อกฎหมาย  หรือปฏิรูปโครงสร้างต่างๆ เช่นที่ผ่านมา ประเทศไทยเราสาละวนอยู่แต่กับการสร้างกรอบสร้างเกณฑ์ต่างๆ มาตลอด  สร้างเสร็จก็รื้อออกมาสร้างใหม่ หมดเงิน...หมดเวลา...และหมดแรงไปมิใช่น้อย  คงถึงเวลาแล้วที่เราต้องปรับกระบวนทัศน์ในการคิดและการทำงานกันใหม่เสียที   มาช่วยกันนะครับ “เพื่อชาติ”

ที่มา  พงศธร  มหาวิจิตร /  ครูโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สระบุรี
นิสิต ป.เอก สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน คณะศึกษาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์